Languages فارسی فارسى درى English اردو Azəri Bahasa Indonesia پښتو français ไทย Türkçe Hausa Kurdî Kiswahili Deutsche РУС Fulfulde Mandingue
Scroll down
มะอาริฟกุรอาน

อัลกุรอานกล่าวถึงประเด็น และเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

2016/06/25

อัลกุรอานกล่าวถึงประเด็น และเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

อัลกุรอานกล่าวถึงประเด็น และเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
อัล-กุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะฮฺ ซึ่งมีทั้งหมด 114 ซูเราะฮฺ แต่ละซูเราะฮ แบ่งเป็นวรรคสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะฮฺ (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัล-กรุอานมีอายะฮฺทั้งหมด 6236 อายะฮฺ ตามการนับมาตรฐาน (ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดิอารเบีย) เนื้อหาในอัล-กุรอานนั้นแบ่งได้สามหมวด กล่าวคือ
หมวดที่หนึ่ง คือพงศาวดารของประชาติก่อนอิสลาม ความพินาศล่มจมและความเจริญรุ่งเรืองของพวกเขาเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่อนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล
หมวดที่สอง เกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละเทศะ หรือลักษณะอันเป็นเอกภาพของพระเจ้า และศรัทธาที่ต้องมีต่อพระองค์
หมวดที่สาม เป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์
เนื้อหาในอัลกุรอานมีจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถนับเป็นรายละเอียดได้ แต่สามารถกล่าวโดยรวมได้ดังนี้
1) อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงกล่าวถึงอาตมัน คุณลักษณะ และความเป็นเอกะของพระองค์ ตลอดจนความบริสุทธิ์ และสิ่งที่เราต้องรู้จักเกี่ยวกับพระองค์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของคุณลักษณะที่มี และไม่มีอยู่จริงในพระองค์
2) มะอาด วันแห่งการฟื้นคืนชีพเพื่อสอบสวนการงาน บัรซัค ขั้นตอนระหว่างความตายกับกิยามะฮฺ
3) มะลาอิกะฮฺ มวลข้าทาสบริพาร และพลังที่ล่วงรู้เกี่ยวกับตัวเองและสิ่งถูกสร้างอื่น และผู้ดำเนินกิจการทั้งหมดแทนพระองค์
4) บรรดาศาสดา หรือผู้ที่วะฮฺยูถูกประทานลงมายังพวกเขา เพื่อเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ชาติทั้งหลาย
5) เชิญชวนมนุษย์ไปสู่การมีศรัทธาต่อพระเจ้า มะอาด มะลาอิกะฮฺ บรรดาศาสดา และคัมภีร์แห่งฟากฟ้า
6) การสร้างชั้นฟ้าทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขาทั้งหลาย ทะเล มหาสมุท พฤกษานานาพัน สรรพสัตว์ หมู่เมฆ ฝน ลม หมู่ดวงดาว อุกาบาศ และอื่นๆ
7) การเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้า ความจริงใจ บริสุทธิ์ใจในการแสดงความเคารพภักดี ไม่ตั้งภาคีร่วมปนกับพระองค์ การห้ามปรามมิให้เคารพภักดีสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ มะลาอิกะฮฺ ดวงตะวัน ดวงดาว ต้นไม้ ภูตผีปีศาจ รูปปั้นต่างๆ และ ฯลฯ
8) รำลึกความโปรดปรานต่าง ๆ ของพระเจ้าในโลกนี้
9) ความโปรดปรานต่าง ๆ อันจีรังถาวร บนโลกนี้สำหรับปวงบ่าวผู้บริสุทธิ์ และประกอบการดี การลงโทษอันเจ็บปวดสำหรับปวงผู้กระทำความผิด
10) การพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า วันกิยามะฮฺ บรรดาศาสดา และกล่าวถึงเรื่องราวอันเร้นลับต่าง ๆ
11) ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่าง ๆ ในฐานะบทพิสูจน์และเป็นการทดสอบมนุษย์ ซึ่งเป็นการยืนยันให้เห็นถึงความสัจจริงของบรรดาศาสดา และยืนยันให้เห็นว่าบั้นปลายสุดท้ายของบรรดาผู้ปฏิบัติตาม และบรรดาผู้มุสาต่อศาสดาเป็นเช่นไร
12) ความสำรวมตน และการขัดเกลาจิตวิญญาณ
13) การใส่ใจต่อดวงจิตฟุ้งซ่าน และอันตรายที่อาจเกิดจากการหยุแหย่ การตกเป็นทาสของอำนาจฝ่ายต่ำ และชัยฏอนมารร้าย
14) การรักษาจรรยามารยาทอันดีงามด้านปัจเจกชนของมนุษย์ เช่น ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ การยืนหยัด ความอดทน ความยุติธรรม ความดีงาม ความรัก การรำลึกถึงพระเจ้า ความรักของพรเจ้า การขอบคุณพระเจ้า ความเกรงกลัวต่อพระเจ้า การมอบหมายความไว้วางใจต่อพระองค์ การพึงพอใจต่อควมมพึงพอใจของพระองค์ การยอมจำนวนต่อพระบัญชาของพระองค์ การใคร่และการตึกตรอง วิชาการ ความรอบรู้ ความเจิดจรัสของจิตใจอันเกิดจากความยำเกรง ความซื่อตรง และการรักษาคำมั่นสัญญา
15) การรักษาจรรยามารยาทอันดีงามของสังคม เช่น ความเป็นเอกภาพ การตักเตือนในเรื่องความดีงาม การห้ามปรามความชั่วร้าย การตักเตือนให้อดทนมีขันติธรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งด้านกำลังกาย และกำลังทรัพย์ การละเว้นความโกรธกริ้ว โมโห การอุตสาหในเรื่องการประกอบสัมมาชีพ การต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องทรัพย์สิน และจิตวิญญาณในหนทางของพระเจ้า
16 เป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซูเราะฮฺหรือแม้ในแต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับมรดก การซื้อขาย การหย่าร้าง และหลักปฏิบัติสำหรับมุสลิม เช่น การถือศีลอด การบำเพ็ญฮัจญฺ และนมาซ การสงคราม การบริจาค การเช่าซื้อ การจ่ายล่วงหน้า การนิกาห์ สิทธิระหว่างสามีภรรยา สิทธิของบิดามารดา สิทธิของบุตร การหย่าร้าง การทำทานบน การทำพินัยกรรม มรดก การลงโทษ หนี้สิน การชดเชย การเป็นพยาน การถือสิทธิครอบครอง การปกครอง การปรึกษาหารือ สิทธิของคนยากจน สิทธิของสตรี และสิทธิทางสังคม
17) เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 23 ปี ของการประกาศเผยแพร่ของท่านศาสดา
18) คุณลักษณะและสถานภาพของท่านศาสดา
19) การอธิบายถึงสภาพของชน 3 กลุ่ม ในทุกหมู่ชนบนโลกนี้ อันได้แก่ผู้ศรัทธา ผู้ปฏิเสธ และบรรดาพวกสัปปลับ
20) คุณสมบัติของมวลผู้ศรัทธา ผู้ปฏิเสธ ผู้สัปปลับในยุคสมัยของการเผยแพร่
21) สิ่งถูกสร้างที่มองไม่เห็นประเภทอื่นทีนอกเหนือจาก มวลมะลาอิกะฮฺ ญิน และชัยฏอน
22) การสรรเสริญ และการแซ่ซ้องสดุดีของสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้ และการล่วงรู้ในด้านในของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่มีต่อพระผู้อภิบาลของตน ในฐานะของพระผู้ทรงสร้าง
23) คุณสมบัติของอัลกุรอานที่กล่าวไว้เกินกว่า 50 คุณสมบัติด้วยกัน
24) โลกและแบบแผนของโลก ชีวิตอันไม่จีรังของโลกนี้ และความไม่เหมาะสมสำหรับการที่จะให้โลกนี้เป็นแหล่งสร้างความสมบูรณ์ ในแง่ของการเป็นมนุษย์ ขณะที่อัลลอฮฺ ทรงมอบให้โลกหน้าเป็นโลกถาวร มีความคู่ควรเหมาะสมสำหรับการสร้างความสมบูรณ์แก่มนุษย์
25) ปาฏิหาริย์และสิ่งที่อยู่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์
26) การให้การสนับสนุน และยอมรับคัมภีร์แห่งฟากฟ้าฉบับอื่น เช่น เตารอต อิลญีล
สามารถกล่าวได้ไหมว่า ประเด็นของอัลกุรอาน มีอยู่เพียงเท่านี้
ไม่ เพราะความหมายอันกว้างไกลของอัลกุรอาน ยังมีอีกมากมาย
สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงภาพรวมที่บ่งให้เห็นถึงสิ่งที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถบอกได้เลยว่า ในแง่ทั่วๆ ไปสิ่งที่กล่าวมาถือว่า พอเพียงแล้ว
กระนั้นถ้าเรานำเอาประเด็นที่กุรอานกล่าวถึงเกี่ยวกับมนุษย์ พระเจ้า โลก และหน้าที่ของมนุษย์ แล้วนำเอาสิ่งนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังสือที่มนุษย์เขียนถึงมนุษย์ด้วยกัน เราก็จะพบว่าไม่มีหนังสือเล่มใดเทียบเคียงอัลกุรอานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเห็นว่า อัลกุรอานนั้นประทานลงให้แก่บุรุษผู้หนึ่งที่เป็น “อุมมี” หมายถึงอ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น ไม่เคยสัมผัสกับทัศนคติของนักวิชาการคนใด และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในยุคสมัยนั้น การปรากฏขึ้นของบุรุษหนึ่งในสังคมที่เป็น อนารยชน เป็นสังคมมนุษย์ที่โง่เขลาที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งสภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปแล้ว มีวัฒนธรรมและชนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกันมาก
อัลกุรอาน ได้นำเนื้อหา และความหมายที่กว้างไกลมาอธิบาย ซึ่งในยุคต่อมาเนื้อหาของอัลกุรอาน กลายเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ และเป็นองค์ความรู้ สำหรับนักปรัชญา นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สิทธิ จริยธรรม ประวัตศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย
ในแง่หนึ่งมันเป็นไปไม่ได้สำหรับคนๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะมีความอัจฉริยะมากเท่าใดก็ตาม เขาก็ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของคนทั้งโลกได้ เว้นเสียแต่ว่าสิ่งที่อัลกุรอานนำมาอธิบายนั้น เป็นความรู้ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับนักปราชญ์ร่วมสมัย แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายไปกว่านั้นคือ อัลกุรอานเรียกร้องและท้าทายนักปราชญ์ในทุกยุคทุกสมัย ออกไปอย่างกว้างขวาง

อัลลอฮฺ หรือพระเจ้าในอัลกุรอาน
ตรงนี้จะกล่าวถึงประเด็นหนึ่ง อันเป็นหนึ่งในประเด็นที่กล่าวไว้ข้างต้น นั่นคือ พระเจ้า และความสัมพันธ์ของพระองค์ที่มีต่อโลก และมนุษย์ ซึ่งเพียงแค่ประนี้ประเด็นเดียวเท่านั้น ถ้าเรานำมาเปรียบเทียบกับความคิดของมนุษย์ เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของอัลกุรอาน เด่นชัดขึ้นมาทันที
อัลกุรอานกล่าวถึงพระเจ้า พร้อมคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธคุณลักษณะไม่ดี ออกไปจากพระองค์ กล่าวเน้นย้ำว่า พระองค์สะอาดและบริสุทธิ์จากคุณลักษณะทำนองนั้น อีกด้านหนึ่งอัลกุรอานก็พิสูจน์ ให้เห็นถึง คุณลักษณะที่ดี สัมบูรณ์ พระนามอันไพรจิตว่าควรคู่กับ อาตมันสากลของพระองค์ ซึ่งมีโองการอยู่ประมาณ 15 โองการที่กล่าวถึง ความประเสริฐของอัลลอฮฺ โดยตรง ประมาณมากกว่า 50 โองการที่กล่าวถึง คุณลักษณะของพระองค์ ด้วยคุณลักษณะสูงส่ง และพระนามอันไพรจิต
อัลกุรอาน กล่าวอธิบายไว้โดยละเอียดยิ่ง มีความลึกซึ้ง ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิชาการทั้งหลาย และสิ่งนี้นับว่าเป็นปาฏิหาริย์ อันชัดเจนย่งิประการหนึ่งของอัลกุรอาน ที่มาจากบุรุษผู้หนึ่ง ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น (อุมมี)
อัลกุรอานนำเสนอแนวทางการรู้จักพระเจ้า โดยใช้ประโยชน์จากทุกแนวทางที่มีอยู่ เช่น เชิญชวนให้ศึกษาสัญญาณ เครื่องหมายต่าง ท้องฟ้า ชีวิต แนวทางการขัดเกลาจิตวิญญาณ แนวทางการใคร่ครวญพิจารณา อย่างรอบคอบถึงการดำรงอยู่ของพระเจ้า การมีอยู่ของสิ่งอื่นทั่วไป นักปรัชญาชั้นเอกของอิสลามได้นำเสนอ เหตุผลที่แข็งแรงทีสุด ในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า ซึ่งพวกเขาต่างสารภาพเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาต่างได้รับอิลฮามจากอัลกุรอานทั้งสิ้น
อัลกุรอาน นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้า กับโลก และสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย ไว้บนพื้นฐานของหลักเตาฮีด นั่นหมายถึงว่าในแง่ของผู้ทรงสร้างสรร อิทธิพล ความรอบคอบ ความประณีต และการบริบาล พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีผู้ใดเทียบเคียง ไม่มีคู่แข่ง และไม่มีผู้ใดเป็นปรปักษ์ ซึ่งภารกิจต่างๆ การบริบาลจัดการ และอำนาจแห่งการเลือกสรร ทั้งหมดเป็นไปตามการตัดสิน และการกำหนดของพระองค์ทั้งสิ้น

ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
อัลกุรอาน กล่าวถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์ กับพระเจ้าโดยสาธยายไว้อย่างสวยงามที่สุด พระเจ้าที่อัลกุรอานกล่าวถึงต่างไปจากพระเจ้าของนักปราชญ์ ทั้งหลายที่มองดูแห้งแล้ง ไม่มีชีวิตชีวา ไร้จิตวิญญาณซึ่งไม่ต่างอะไรไปจามนุษย์แม้แต่น้อย พระเจ้าของอัลกุรอานมีความใกล้ชิดกับมนุษย์ ยิ่งกว่าเส้นเลือดดำที่ลำคอของเขาเสียอีก พระองค์อยู่กับมนุษย์ตลอดเวลา ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมนุษย์ พระองค์เรียกร้องมนุษย์มาสู่พระองค์ เพราะพระองค์คือ แหล่งกำเนิดของความสงบทั้งหลาย الا بذکر الله تطمئن القلوب การรำลึกถึงพระองค์มิใช่หรือ ที่สร้างความสงบมั่นแก่จิตใจ (อัรเราะอฺดุ 28) มนุษย์มีความคุ้นเคยกับพระองค์เป็นอย่างดี ทว่าทุกสิ่งสรรพบนโลกนี้ต่างถวิลหาพระองค์ ทุกสรรพสิ่งต่างพันธนาตัวเองเข้ากับพระองค์อย่างลึกซึ้ง และกู่สรรเสริญร้องเรียกหาพระองค์ตลอดเวลา “ไม่มีสรรพสิ่งบนโลกนี้ เว้นแต่ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญอัลลอฮฺ เพียงแต่มนุษย์ไม่เข้าใจคำสรรเสริญของสิ่งเหล่านั้น” ان من شی ء الا یسبح بحمده و لکن لا تفقهون تسبیحهم (อัลอิสรอ 44)

อัลกุรอาน เตารอต อินญิล
อัลกุรอาน กล่าวรับรองและยืนยันความจริงของคัมภีร์ทั้งสอง ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าคัมภีร์ทั้งสองได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยน้ำมือของมนุษย์ผู้ทรยศหักหลัง อัลกุรอานกล่าวถึงความผิดพลาดของคัมภีร์ทั้งสองไว้ในเรื่อง พระเจ้าผู้ทรงเอกะ เรื่องราวของบรรดาศาสดา และกฎหมายต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยพละการ ตัวอย่างเช่น เรื่องต้นไม้ต้องห้าม หรือความผิดพลาดของศาสดาอาดัม (อ.)
อัลกุรอาน กล่าวยกย่องความมหาพิสุทธิคุณยิ่งของอัลลอฮฺ ขณะที่คัมภีร์ก่อนหน้านี้กล่าวว่า อัลลอฮฺ ทรงเล่นมวยปล้ำกับศาสดายะอฺกูบ และพ่ายแพ้ กล่าวว่าบรรดาศาสดามาจากเผ่าพันธ์ที่ชั่วร้าย

ประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าต่างๆ
อัลกุรอาน กล่าวถึงเรื่องราวในพงศาวดาร ซึ่งประชาชนในยุคนั้นไม่เคยรับรู้เรื่องมาก่อน และศาสดาก็ไม่เคยรู้มาก่อนเช่นกัน «ما کنت تعلمها انت و لا قومک ที่สำคัญในหมู่อาหรับไม่เคยมีใครสักคน ที่มากล่าวอ้างว่าเราเคยรู้เรื่องราวเหล่านี้มาก่อน อัลกุรอานไม่เคยพูดตามทั้งเตารอตและอิลญีล ทว่าอัลกุรอานมาเพื่อปรับปรุงคัมภีร์ทั้งสอง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่เมื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพงศาวดารของ หมู่ชนซะบา หมู่ชนษะมูด หมู่ชนอ๊าด และหมู่ชนกลุ่มอื่น ทั้งหมดได้ยืนยันความถูกต้องของอัลกุรอาน