นอกเหนือจากมุสลิมแล้ว บุคคลอื่นได้เข้าสวรรค์หรือไม่
นอกเหนือจากมุสลิมแล้ว บุคคลอื่นได้เข้าสวรรค์หรือไม่?
วันกิยามะฮฺ การสอบสวนความประพฤติของกลุ่มชนอื่นที่มิได้ปฏิบัติคำสอนของอิสลามนั้น จำเป็นต้องกล่าวถึงสิ่งสำคัญลำดับต่อไปนี้
1- ศาสนาแห่งความถูกต้อง “ดีนุลฮัก” ในแต่ละยุคสมัยจะไม่มีมากเกินกว่า 1 ดังนั้น ไม่มีความหมายอันใดทั้งสิ้น หลังจากประกาศแต่งตั้งศาสดาแล้วมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสนาอื่นนอกจากนั้นจะได้รับการยอมรับ ณ พระเจ้าอีก و من یبتغ غیر الاسلام دینا فلن یقبل منه (อาลิอิมรอน 85)
2 – ความถูกต้องในวันปรโลกมีอยู่ 2 ประการ คือ อมัลซอลิฮฺ กันความศรัทธาถูกต้องที่มีต่ออัลลอฮฺ ฉะนั้น ถ้าบุคคลหนึ่งปฏิบัติการงานอันเป็นที่ยอมรับ มีความเชื่อเรื่องพระเจ้าและวันกิยามัตถูกต้องสมบูรณ์ ดังที่กุรอานกล่าวว่า เขาได้รับอนิสงจากจิตใจที่ยอมจำนน วันกิยามัตเขาจึงเป็นกลุ่มชนที่ถูกต้อง อัลกุรอานกล่าวว่า
يَوْمَ لَا يَنفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُونَ إِلَّا مَنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ
เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺด้วยดวงใจที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว (ในวันนั้น) สรวงสวรรค์จะถูกนำมาใกล้บรรดาผู้สำรวมตน (ชุอฺรอ 88-89)
3- ในโลกทัศน์อิสลามมีความเชื่อว่า อัลลอฮฺ ทรงตรัสสินปวงบ่าวของพระองค์ ด้วยความยุติธรรม การลงโทษของพระองค์จะบังเกิดขึ้น เมื่อข้อพิสูจน์ของพระองค์สมบูรณ์ครบแล้ว กล่าวคือ อัลลอฮฺ ผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงยุติธรรม หลังจากทรงนำเอาแนวทางอันถูกต้องเสนอแก่ประชาชนแล้ว (โดยผ่านข้อพิสูจน์ทั้งภายนอก และภายใน) หลังจากนั้น พระองค์จะสอบสวนและตัดสินพวกเขา
ماكنا معذّبین حتی نبعث رسولاً
เราจะไม่ลงโทษใคร เว้นเสียแต่เราได้แต่งตั้งเราะซูลขึ้นในหมู่พวกเยา
ใจความสำคัญของโองการนี้คือ ข้อพิสูจน์ถ้ายังไม่สมบูรณ์สำหรับพวกเขา หรือพวกเขายังไม่สามารถค้นหาศาสนาถูกต้องได้ พวกเขาจะไม่มีความผิดใดๆ และไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ในนรก
ในอิสลามคำว่า กุฟร์ มีความหมายอย่างไรบ้าง?
4- คำสอนของอิสลาม คำว่า “กุฟร์” มีหลายความหมายด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ความดื้อรั้น ดื้อด้านอวดดี ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง และสิ่งนี้คือสาเหตุที่เขาจะได้รับโทษในวันกิยามะฮฺ มิใช่การปฏิเสธที่เกิดจากความไม่รู้ หรือความอ่อนแอทางความคิดและสติปัญญา ในตรงนี้อาจเป็นไปได้ที่เขาอาจจะอยู่ในความเมตตาของอัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ตรัสว่า “และมีชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังรอคำบัญชาของอัลลอฮฺ พระองค์อาจจะทรงลงโทษพวกเขาและพระองค์ก็อาจจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขาและอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (เตาบะฮฺ 106)
“นอกจากบรรดาผู้ที่ถูกนับว่าอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นชายและหญิง และเด็ก ก็ตามที่ไม่สามารถมีอุบายใด ๆ และทั้งไม่ได้รับการแนะนำทางหนึ่งทางใดด้ว. ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺ อาจจะทรงยกโทษให้แก่พวกเขา และอัลลอฮฺเป็นทรงยกโทษเสมอ” (นิซาอฺ 98-99)
5- ทุกการกระทำจะมี 2 ลักษณะ กล่าวคือ การปรากฎภายนอก และการปรากฏแต่ภายใน เช่น แนวคิด และความตั้งใจ
การกระทำที่กล่าวว่า ดีและมีคุณค่าทั้งสองด้านคือ การกระทำที่ดี (เช่น รับใช้สังคมผู้คน) และผู้กระทำนั้นดีด้วย กล่าวคือมีแนวคิดและเป้าหมายเพื่อพระเจ้า เนื่องจากเขาได้รับใช้สังคม การกระทำลักษณะนี้ในวันกิยามะฮฺ ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าการกระทำของคนที่มิได้เป็นมุสลิม และเป็นคุณงามความดี ตามคำจำกัดความของริวายะฮฺ ในอิสลาม คำตัดสินของสติปัญญา อาจเป็นไปได้ที่เขาอาจจะได้รับการอภัย และความช่วยเหลือจากพระเจ้า (มัจมูอะฮฺ อาษาร ชะฮีดมุเฎาะเฮรี เล่ม 1 หน้า 307-308)
6- ภารกิจบางอย่าง จะเป็นตัวทำลายการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเราเรียกสิ่งนั้นว่า “حبط اعمال” หรือเรียกอีกอย่างว่า ความเสียหายในการกระทำ บางทีเป็นไปได้ที่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จะสร้างคุณงามความดี อยู่ในหนทางถูกต้อง แต่หลังจากนั้นเขาอาจกระทำกิจบางอย่างเพียงเล็กน้อย แต่กิจเหล่านั้นทำลายความดีงามทั้งหมดก็ได้ (มัจมูอะฮฺ อาษาร ชะฮีดมุเฎาะเฮรี เล่ม 1 หน้า 309)
สรุปแล้ว ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะได้เข้าสวรรค์ได้ต้องทำอย่างไร?
จากสิ่งที่กล่าวมา สามารถกล่าวได้ว่า “หลังจากการแต่งตั้งศาสดา (ซ็อลฯ) บุคคลอื่นที่มิได้เป็นมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นยะฮูดีย์ คริสเตียน และกลุ่มอื่นๆ ...
1) พวกเขาติดตามและสืบหาศาสนาที่เที่ยงธรรม มิได้เฉยเมยหรือปฏิเสธ หรือดื้อรั้น โดยที่พวกเขามิได้มีความผิดอันใด แต่ไม่สามารถเข้าถึงศาสนาเที่ยงธรรมได้
2) ด้วยความภูมิความรู้ที่มีอยู่ในศาสนาเดิม ขณะที่ศาสนาเดิมของพวกเขาอาจเป็นศาสนาของอีซา หรือมูซา และพวกเขายังยึดมั่นและมีความเคร่งครัดในศาสนาของเขา
3) ภารกิจที่กระทำลงไปเป็นคุณความดีทั้งการกระทำ และผู้กระทำ
4) หลังจากได้ปฏิบัติภารกิจอันเป็นคุณงามความดีแล้ว การงานเหล่านั้นต้องไม่ถูกลบล้างไปเพราะความผิดพลาดต่างๆ (หมายการกระทำที่ลบล้างความดี) ในกรณีนี้ตามทัศนะของชะฮีดมุเฏาะฮะรี ถือว่าเขาเป็นมุสลิมโดยฟิตรี หมายถึงโดยสัญชาติญาณแล้วเขาคือ มุสลิม (มัจมูอะฮฺ อาษาร ชะฮีดมุเฎาะเฮรี เล่ม 1 หน้า 294) ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ว่าในวันกิยามะฮฺ เขาจะได้รับชะฟาอะฮฺ ให้รอดพ้นจากไฟนรก สิ่งนี้อยู่ในอำนาจของอัลลอฮฺ ขึ้นอยู่กับความยุติธรรม และวิทยปัญญาของพระองค์ ซึ่งรายงานฮะดีษส่วนใหญ่เน้นย้ำประเด็นนี้เอาไว้ (มัจมูอะฮฺ อาษาร ชะฮีดมุเฎาะเฮรี เล่ม 1 หน้า 307-308)
ชะฮีดมุเฏาะฮะรีย์ กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ถ้าบุคคลหนึ่งมีคุณลักษณะของการยอมจำนนในตัว แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าอิสลาม ไปไม่ถึงเขา ทั้งที่เขาก็มิได้เฉยเมย หรือมิได้มีความผิดใดๆ แน่นอนอัลลอฮฺ จะไม่ลงโทษเขาเด็ดขาด และเขาจะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับความช่วยเหลือให้รอดพ้นจากไฟนรก” (มัจมูอะฮฺ อาษาร ชะฮีดมุเฎาะเฮรี เล่ม 1 หน้า 393) ท่านยังกล่าวอีกว่า ...
“ตามความคิดเห็นของฉัน ถ้าหากพบเห็นคนใดคนหนึ่งว่า เขาทำความดีกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือทำความดีกับสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ทั้งที่เขาไม่ได้ขอร้อง หรือรอให้ช่วยเหลือ หรือในสัญชาติส่วนลึกของเขามิได้รับใช้อยากได้หน้า หรือต้องการให้คนอื่นมาเชิดหน้าชูตาเขา หรือต้องการสิ่งตอบแทน หรือกลัวว่าวันหนึ่งโชคชะตาจะพาเขาไปสู่ความตกต่ำนั้น ทว่าพวกเขาได้ทำดีทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลประโยชน์อันใดตกมาถึงพวกเขาด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ใครสักคนก็ไม่เคยรับรู้ หรือไม่มีใครสักคนมากล่าวกับเขาว่า “บาเราะกัลลอฮฺ” แต่พวกเขาก็ยังมุมานะทำดีต่อไป โดยที่การทำดีนั้นมิได้เป็นเพราะความเคยชิน หรือมีใครบีบบังคับ ดังนั้น ต้องกล่าวว่า ..
“ในสัญชาติญาณของบุคคลเหล่านี้ มีรัศมีแห่งการรู้จักพระเจ้าซ่อนอยู่ แม้ว่าภายนอกจะเห็นว่าเขาพูดปฏิเสธ แต่ในส่วนลึกของเขายอมรับพระเจ้า การปฏิเสธในความคิดของเขาแล้ว เป็นเพียงสิ่งสมมติ ซึ่งเขาคิดถึงสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ หรือปฏิเสธสิ่งสมมุติอื่น .ซึ่งสิ่งนั้นจะนำเขาไปสู่การรู้จักพระเจ้าและวันกิยามะฮฺ มิใช่เป็นการปฏิเสธอัลลอฮฺ และวันกิยามะฮฺโดยแท้จริง ... ดังนั้น อาจเป็นได้ที่บุคคลเหล่านี้ในวันวันกิยามะฮฺ อาจจะไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ปฏิเสธ แม้ว่าปากของเขาจะปฏิเสธก็ตาม วัลลอฮุ อะอฺลัม