การเคลื่อนย้ายมนุษย์ในวัน เยามุลมะชัร ไปสวรรค์ หรือนรกเป็นอย่างไร
การเคลื่อนย้ายมนุษย์ในวัน เยามุลมะชัร ไปสวรรค์ หรือนรกเป็นอย่างไร?
วันกิยามะฮฺมนุษย์ทุกคนจะต้องผ่าน มูกิฟ (สถานพำนัก) 50 แห่งด้วยกัน จนกว่าเขาจะได้เข้าสวรรค์ หรือถูกนำตัวไปสู่นรก และแต่ละสถานพำนักนั้นเขาจะต้องพักอยู่นานถึง 1000 ปี (เชคกุลัยนี, อัลกาฟี, ตรวจทานโดย ฆอฟฟารี อะลี อักบัร ออคูนดี เล่ม 8 หน้า 143 ดารุลกุตุบ อัลอิสลามียะฮฺ เตหะราน พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี ฮ.ศ. 1408)
อัลกุรอานกล่าวว่า «فِی یَوْمٍ کانَ مِقْدارُهُ خَمْسِینَ أَلْفَ سَنَة»؛ วันหนึ่งซึ่งกำหนดของมันเท่ากับ 50.000 ปี (มะอาริจญฺ 4) ตรงนี้จะขอกล่าวถึง สถานพำนักที่หน้ากลัวที่สุดในวันกิยามะฮฺ
1) สถานีแรกคือ การออกมาจากหลุมฝังศพ
(เชคอับบาส กุมมี มะนาซิลอาคิเราะฮฺ หน้า 83-85 พิมพ์ที่ อันซอรี เตหะราน พิมพ์ครั้งที่ 8 ปี 1390)
อัลกุรอานกล่าวว่า “วันฟื้นคืนชีพต้องปรากฎแน่นอน ไม่มีความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น และอัลลอฮฺ จะทรงให้ทุกคนที่อยู่ในหลุมฝังศพพื้นคืนชีพออกมา” (ฮัจญฺ /7)
รายงานจากท่านอิมามอะลี (อ.) “ประชาชนจะถูกคุมขังอยู่ในสถานพำนักนี้ นานนับ 1000 ปี ด้วยร่างกายเปลือยเปล่า หิว กระหาย และบุคคลใดก็ตามที่มีความเชื่อในอัลลอฮฺ สวรรค์ นรก การสอบสวนในวันกิยามะฮฺ เขาจะถูกช่วยเหลือให้รอดพ้นจากความหิวกระหาย”
(บิฮารุลอันวาร เล่ม 7 หน้า 111 ดารุลอะฮฺยา อัตตุรอษ อัลอะรอบี เบรูต พิมพ์ทั้งที่ 2 ปี ฮ.ศ 1403)
อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “เรื่องราวของผู้คนในวันกิยามะฮฺ ขณะที่พวกเขายืนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก เสมือนลูกศรที่ปักอยู่ในที่ของมัน หมายถึงเขาจะยืนอยู่ในที่ๆ ของเขา โดยที่เท้าปักอยู่กับที่ (เนื่องจากความหนาแน่นของผู้คน) เขาไม่อาจขยับเขยื่อนไปทางโน้นทางนี้ได้”
(อุซูลกาฟี เล่ม 8 หน้า 142)
2) สถานีที่สองคือการชั่งการกระทำ (มะนาซิลุล อาคิเราะฮฺ หน้า 93)
อัลกุรอาน กล่าวว่า “และการชั่งเป็นความจริง ผู้ใดที่ตราชูของเขาหนักชนเหล่านี้แหละคือ ผู้ที่ได้รับความสำเร็จ และผู้ใดที่ตราชูของเขาเบาชนเหล่านี้แหละคือ ผู้ที่ก่อความขาดทุนให้แก่ตัวเอง เนื่องจากการที่พวกเขา มิได้ให้ความเป็นธรรมแก่บรรดาโองการของเรา (เตาบะฮฺ 8-9)
3) สถานีที่สามการสอบสวน (มะนาซิลอาคิเราะฮฺ หน้า 117-118)
อัลกุรอาน กล่าวว่า “เวลาแห่งการคิดบัญชีของมนุษย์ได้ใกล้เขามาแล้ว โดยที่พวกเขาอยู่ในสภาพหลงลืมเป็นผู้ผินหลังให้” (อันบิยาอฺ 1)
ท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ ปวงบ่าวจะไม่อาจก้าวเดินก้าวต่อก้าวได้ เว้นเสียแต่ว่าเขาจะถูกสอบสวนใน 4 ประการดังต่อไปนี้ (1) เขาใช้ชีวิตไปอย่างไร (2) เขาใช้ความหนุ่มสาวของเขาไปในหนทางอันใด (3) ทรัพย์สินเขาได้มาด้วยวิธีใด และหยิบจ่ายใช้สอยไปอย่างไร (4) ความรักที่มีต่ออะฮฺลุลบัยตฺ (อ.)
(คิซอล เชคซะดูก ตรวจทานโดย ฆอฟฟารี อะลี อักบัร เล่ม 1 หน้า 253 พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์อิสลามียะฮฺ กุม พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 1362)
ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า “สิ่งแรกที่ปวงบ่าวจะถูกสอบสวนคือ “นมาซ” ดังนั้น ถ้านมาซถูกตอบรับ การงานอย่างอื่นจะถูกตอบรับด้วย” (อุซูลกาฟี เล่ม 3 หน้า 368)
ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า “สำหรับพวกตั้งภาคีเทียบเคียงจะไม่มีการตั้งตราชูให้พวกเขา ซึ่งพวกเขาจะถูกนำตัวไปนรกๆ เป็นกลุ่มๆ การจัดเตรียมตราชั่งนั้นสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม” (บิฮารุลอันวาร เล่ม 7 หน้า 250)
4) สถานีที่สี่ บัญชีการงาน (มะนาซิลอาคิเราะฮฺ หน้า 125-128)
อัลกุรอาน กล่าวว่า “เมื่อบันทึกทั้งหลายถูกกางแผ่” (ตักวีร 10)
ตามคำกล่าวของอัลกุรอาน วันกิยามะฮฺ เมื่อบัญชีการงานของมนุษย์ ถูกส่งมอบให้ มนุษย์จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มหนึ่งจะถูกมอบบัญชีการงานทางมือขวา อีกกลุ่มหนึ่งบัญชีการงานจะถูกมอบจากทางด้านหลัง ทางมือซ้าย คนกลุ่มแรกจะแสดงความปลื้มปิติ การงานของเขาจะถูกสอบสวนอย่างง่ายดาย และพวกเขาคือชาวสวรรค์ ส่วนกลุ่มที่สอง พวกเขาคือ ชาวนรก” (อินชิก๊อก 7-12)
ส่วนผู้ที่ถูกยื่นบันทึกของเขาให้ทางเบื้องขวาของเขา เขาก็จะถูกชำระสอบสวนอย่างง่ายดาย และเขาจะกลับไปยังครอบครัวของเขาด้วยความดีใจ ส่วนผู้ที่ถูกยื่นบันทึกของเขาให้ทางเบื้องหลังของเขา เขาก็จะร้องเรียกหาความหายนะ และเขาจะเข้าไปในเปลวเพลิง
5) สถานีที่ห้าสะพานซิรอต (มะนาซิลอาคิเราะฮฺ หน้า 131-132)
สะพานซิรอต คือ สะพานที่ทอดผ่านนรก บรรดาปวงบ่าวทุกคนของพระองค์ ต้องเดินข้ามผ่านสะพานนี้ ถ้าเขาเป็นชาวสวรรค์ พวกเขาก็จะเดินเข้าสวรรค์ไป ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า “และไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเจ้า นอกจากจะเป็นผู้ผ่านเข้าไปในมัน มันเป็นสิ่งที่กำหนดไว้แน่นอนแล้วสำหรับพระเจ้าของเจ้า” (มัรยัม 71)
สะพานซิรอตเป็นทั้งการลงโทษ และทางผ่านจำนวนมากมาย เพราะมันคือทุกภารกิจที่เป็นวาญิบ และฮะรอมของพระเจ้า กล่าวคือจะมีการลงโทษ และให้ผ่านเท่าจำนวนวาญิบ และฮะรอม อันเป็นหน้าที่รับผิดชอบของมนุษย์
(อัลอิอ์ติกอดาต เชคซะดูก หน้า 71-72 อัลมุอ์ตะมะรุลอาละมี ลิชชัยค์ มุฟีด กุม พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี ฮ.ศ. 1414
ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นว่ามีรายงานกล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จำนวนหรือประเภทของสถานีต่างๆ จะมีความแตกต่างกันทั้งจำนวน และชื่อ แต่สิ่งนี้มิได้บ่งบอกว่ารายงานเหล่านั้นขัดแย้งกันแต่อย่างใด ทว่าทุกรายงานเหล่านั้นรายงานบางบท กล่าวถึงองค์ประกอบภายนอก บางบทกล่าวถึงตัวอย่าง ดังนั้น ตรงนี้จึงของกล่าวถึงทางผ่านที่สำคัญเหล่า ที่จำทำให้มนุษย์ข้ามผ่านสะพานซิรอตไปอย่างรอด ปลอดภัยที่สุด
5.1) สถานีวิลายะฮฺ
ในสถานีปวงบ่าวทุกคนจะถูกปกป้องรักษา และถูกสอบสวนเรื่องวิลายะฮฺของท่านอิมามอะลี (อ.) และอิมามหลังจากท่าน ดังนั้นบุคคลใดก็ตามบนโลกนี้เขารู้จักอิมามแห่งยุคสมัยของตน ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของอิมาม เขาจะสามารถข้ามผ่านสะพานซิรอตในวันกิยามะฮฺได้อย่างสะดวกสบาย ในทางกลับกันบุคคลที่ไม่รู้จักอิมามแห่งยุคของตน แน่นอน ยามที่เขาก้าวเดินผ่านสะพานซิรอต เท้าของเขาจะสั่นหวั่นไหวและก้าวตกลงนรกในที่สุด
(อัลอิอ์ติกอดาต เชคซะดูก หน้า 72)
5.2) สถานี มีรซอด (สถานีเฝ้าคอยดู)
อัลลอฮฺ ตรัสว่า “แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเฝ้าดูอย่างแน่นอน” (ฟัจรญฺ 14)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “มีรซอด” คือสถานีผ่านหมายถึงบนสะพานซิรอตจะไม่มีผู้อธรรม (ซอลิม) คนใดข้ามผ่านสะพานไปได้” (บิฮารุลอันวาร เล่ม 8 หน้า 64)
หมายถึง ในสถานีนี้อัลลอฮฺ (ซบ.) จะทวงสิทธิของผู้ถูกอธรรมทุกคนจากบ รรดาผู้อธรรม พระองค์จะไม่ปล่อยให้เขาข้ามผ่านไปอย่างแน่นอน (อัลอิอ์ติกอดอต หน้า 72)
5.3) สถานีความสัมพันธ์ (อัลอิอ์ติกอดอต หน้า 72)
ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวรายงานมาจากท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) ว่า “ในวันกิยามะฮฺ เมื่อชาวนรกถูกนำตัวออกมา สะพานซิรอตจะถูกทอดผ่านนรก และบนสะพานนั้นยังจะมีอีก 3 สะพานทอดซ้อนเอาไว้ (1) สะพานอะมานะฮฺ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติ (2) สะพานที่สองคือ นมาซ (3) สะพานที่สามความยุติของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
ฉะนั้น ปวงบ่าวจะถูกบังคับให้เดินข้ามสะพาน เมื่อถึงสะพานอะมานะฮฺ เขาจะถูกชะลอให้หยุด ดังนั้น ถ้าเขาเป็นผู้ตัดสัมพันธ์ทางเครือญาติ หรือทรยศหักหลังทรัพย์สินของบุคคลอื่น เขาจะไม่สามารถผ่านสะพานนี้ไปได้ จนกว่าเขาจะคืนสิทธิเหล่านั้นให้เจ้าของ ถ้าไม่เช่นนั้นเขาก็จะถูกโยนลงไปในไฟนรก และถ้าเขาข้ามผ่านสะพานอะมานะฮฺ ไปได้ เขาก็จะถูกชะลอไว้ที่สะพาน นมาซ เพื่อสอบสวนเรื่องนมาซ ถ้าเขาสามารถข้ามผ่านสะพานนี้ไปได้ เขาจะถูกชะลอไว้ที่สะพาน อะดาละฮฺ ของพระเจ้า เพื่อสอบสวนว่าเขารักษาสิทธิความเป็นบ่าวไว้มากน้อยแค่ไหน และถ้าเขาข้ามผ่านสะพานนี้ไปได้อย่างสะดวกรอดปลอดภัย พวกเขาจะสรรเสริญแซ่ซ้องอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” (บิฮารุลอันวาร เล่ม 8 หน้า 65)
5.4) สถานีอะมานะฮฺ (อัลอิอ์ติกอดอต หน้า 72)
อัลกุรอานกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จงตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกเจ้าด้วยสิ่งซึ่งดีจริง ๆ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและได้เห็น” (นิซาอฺ 58)
ท่านอิมามบากิร (อ.) รายงานมาจากท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) ว่า สะพานหนึ่งที่ทอดอยู่เหนือสะพานซิรอตคือ สะพานอะมานะฮฺ ซึ่งปวงบ่าวทุกคนจะต้องเผชิญ
6) สะพานนมาซ (อัลอิอ์ติกอดอต หน้า 72)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “อิบาดะฮฺ แรกที่มนุษย์จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺคือ นมาซ” (อุซูลกาฟี เล่ม 3 หน้า 268)
ฉะนั้น เป็นที่รับรู้แล้วว่าในวันกิยามะฮฺ มีสถานีและทางผ่านอันใดบ้าง และบั้นปลายสุดท้ายของมนุษย์ทุกคน คือ จะถูกคัดสรรไปสู่สวรรค์ หรือนรก บัญชีการงานของมนุษย์จะถูกมอบให้แก่พวกเขาทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มชนที่มีอีมาน และความยำเกรง คุณงามความดีที่พวกเขาได้ปฏิบัติบนโลก ตลอดจนการเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเราะซูล (ซ็อลฯ) พวกเขาก็จะถูกมอบบัญชีการงานของเขาด้วยการให้เกียรติ จากมวลมะลาอิกะฮฺ ข้าทาสบริพารของอัลลอฮฺ และพระองค์จะทรงให้พวกเขาได้เดินเข้าไปสู่สวรรค์ ทางประตูทั้ง 8 ที่เปิดรอคอยพวกเขาอยู่ มวลมะลาอิกะฮฺ จะออกมาต้อนรับพวกเขา กล่าวสลามแก่พวกเขา และกล่าวว่า “พวกท่านถูกทำให้สะอาดแล้ว ดังนั้น จงเข้าสู่สรวงสวรรค์ และพำนักอยู่ในนั้นตลอดไปเถิด”
(มัจญฺมะอุล บะยาน ฟี ตัฟซีริลกุรอาน ตะบัรซี บทนำ บะลาเฆาะฮฺ มุฮัมมัด ญะวาด เล่ม 8 หน้า 795-796)
ส่วนชาวนรก พวกเขาดื้อรั้นและขัดขืนที่จะไม่เข้าสู่นรก จะมีมะลาอิกะฮฺ ที่ควบคุมการลงโทษบังคับ และฉุดกระชากลากจูงพวกเขาไปนรก มือและเท้าของพวกเขาจะถูกร้อยด้วยโซ่ตรวนอย่างแน่นหนา อัลกุรอาน กล่าวว่า “เมื่อห่วงคล้องคออยู่ที่คอของพวกเขา แล้วถูกลากไปด้วยโซ่ตรวน” (ฆอฟิร 71)
إِذِ الْأَغْلَالُ فِي أَعْنَاقِهِمْ وَالسَّلَاسِلُ يُسْحَبُونَ
พวกเขาจะถูกเฆี่ยนตีด้วยแซ่ตรวนอย่างรุนแรง และถูกนำตัวไปสู่จุดหมายเป็นกลุ่มๆ พวกเขาจะได้เห็นว่าพวกเขากระทำความผิดอย่างไรในโลก เช่น การปฏิเสธ การตั้งภาคี การปฏิเสธสิ่งจำเป็นในศาสนา และ ....ซึ่งทุกกลุ่มของชาวนรกจะได้เข้าสู่นรกจากทางด้านประตูทั้ง 7 ของนรก (มัจญฺมะอุล บะยาน ฟี ตัฟซีริลกุรอาน ตะบัรซี เล่ม 8 หน้า 795)
เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมนรกจะเย้ยหยันพวกเขา ต่างพากันพูดว่า “อัลลอฮฺ ไม่เคยส่งศาสดามายังพวกเจ้าดอกหรือ พวกเจ้าจึงกลัวอย่างรนรานในวันนี้?” พวกเขาจะตอบว่า “หามิได้พระองค์ประทานศาสดาลงมาแล้ว” เวลานั้นจะมีเสียงดังขึ้นว่า พวกเจ้าจงเข้าสู่นรกเถิด อันเป็นสถานพำนักที่ชั่วช้ายิ่งสำหรับพวกเจ้า” (มัจญฺมะอุลบะยาน ฟี ตัฟซีรกุรอาน เล่ม 8 หน้า 795)
สถานี 7 สะพานซิรอต เขาจะถามคำถามอะไรบ้าง?
สะพานซิรอตมี 7 สะพาน แต่ละสะพานจะมีคำถามเฉพาะกำกับเอาไว้ ซึ่งแต่ละคำถามมีความแตกต่างกัน
สถานีแรก จะถามถึง วิลายะฮฺและความรักที่มีต่ออิมามอะลี บุตรของอบูฏอลิบ (อ.) และความรักที่มีต่อบรรดาอะฮฺลุลบัยต์ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
สถานีที่สอง ถามถึงนมาซ
สถานีที่สาม ถามถึง ซะกาต
สถานีที่สี่ ถามถึงศีลอด
สถานีที่ห้า ถามถึงฮัจญ์
สถานีที่หก ถามถึงเรื่องญิฮาด
สถานีที่เจ็ด ถามถึงเรื่องความยุติธรรมของพระเจ้า
รายละเอียด
คำถามเหล่านี้ เป็นบทสรุปมาจากรายงานฮะดีษ ซึ่งท่านอิบนุอับบาสได้ถามท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) ว่า “เมื่อวันกิยามะฮฺมาถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาแก่มวลมะลาอิกะฮฺว่า จงจุดไฟแห่งนรกทั้งเจ็ดให้สว่างโชติช่วง
แล้วทรงมีบัญชาแก่มะลาอิกะฮฺแห่ง ริฎวาน (ผู้การุณย์) ว่า จงประดับประดาสรวงสวรรค์ทั้ง 7 ชั้น ให้สวยงาม
ทรงมีบัญชาแก่มะลาอิกะฮฺ มีกาอีลว่า จงทอดสะพานซิรอต ผ่านนรกเถิด
ทรงมีบัญชาแก่มะลาอิกะฮฺ ญิบรออีลว่า จงติดตั้งตราชูและตราชั่งแก่ปวงบ่าวทั้งหลาย ภายใต้บัลลังก์ของพระองค์
ขณะนั้นจะมีเสียงกล่าวแก่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า โอ้ มุฮัมมัดเอ๋ย จงนำประชาชาติของเจ้าเข้ามาใกล้ๆ เพื่อรอรับการสอบสวน เวลานั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) จะทรงบัญชา ให้ทอดสะพานซ้อนเหนือสะพานซิรอตอีก 7 สะพาน ซึ่งแต่ละสะพานจะมีความยาวประมาณ 17 ฟัรซัค หรือประมาณ 85 กม. และแต่ละสะพานจะมีมะลาอิกะฮฺ คอยกำกับดูแลถึง 70.000 องค์ ซึ่งพวกเขาจะคอบสอบสวนและซักถามปวงบ่าวทั้งชายและหญิง
สรุป ..
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือไม่ ล้วนต้องเดินผ่านสะพานซิรอฏเหมือนกันทั้งสิ้น สิ่งที่จะช่วยให้เราผ่านสะพานซิรอฏไปได้มีสิ่งเดียวคือ อีมานและการปฏิบัติคุณงามความดี