สรวงสวรรค์ทั้ง 7 ชั้นมีอะไรบ้าง
สรวงสวรรค์ทั้ง 7 ชั้นมีอะไรบ้าง?
ดารุลสลาม, ดารุลญะลาล, ญันนะตุลมะอฺวา, ญันนะตุลคุลด์, ญันนะตุลอัดนิน, ญันนะตุลฟิรเดาซ์, ญันนะตุลนะอีม นี่คือชื่อชั้นสวรรค์ทั้งเจ็ดที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน
บางคนเชื่อว่าชื่อทั้งเจ็ดที่กล่าวมานี้ ยืนยันให้เห็นถึงสวรรค์ ๆ เดียวเท่านั้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้เป็นระดับชั้น จากระดับทั้งหลายของสวรรค์ เนื่องจากเวลาที่เราพูดว่า “ญันนะตุลนะอีม” วัตถุประสงค์ก็คือ สวรรค์ที่พำนักถาวรนั่นเอง และเมื่อกล่าวว่า “ดารุลสลาม” นั่นหมายถึงผู้ที่พำนักอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้จะมีแต่ความสลามัต ปลอดภัยจากภยันตราย ความหวาดกลัว และความทุกข์โศก
อย่างไรก็ตามคำว่า ดารุลสลาม, ดารุลญะลาล, ญันนะตุลมะอฺวา, ญันนะตุลคุลด์, ญันนะตุลอัดนิน, ญันนะตุลฟิรเดาซ์, ญันนะตุลนะอีม (อิอานะตุต ตอลิบีน เล่ม 4 หน้า 385) คือชื่อสวรรค์ทั้ง 7 สวรรค์ ที่ปรากฏอยู่ในรายงานฮะดีษ และตำราตัฟซีรกุรอาน
บรรดานักปราชญ์ นักตัฟซีร โองการอัลกุรอาน และรายงานกล่าวถึงประเด็นไว้อย่างไรบ้าง?
1) ดารุลสลาม
อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
وَاللّهُ يَدْعُو إِلَى دَارِ السَّلاَمِ وَيَهْدِي مَن يَشَاء إِلَى صِرَاطٍ مُّسْتَقِيم
“อัลลอฮฺทรงเรียกร้อง (สูเจ้า) ไปสู่สถานที่แห่งศานติ และทรงชี้นำทางผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (มีความเหมาะสม) ยังทางที่เที่ยงธรรม” (ยุนุส 25)
บางท่านเชื่อว่า วัตถุประสงค์ของคำว่า “สลาม” ในโองการนี้ หมายถึง อัลลอฮฺ ผู้เป็นเจ้า เนื่องจากอัลลอฮฺ คือผู้ทรงเชิญชวนไปสู่ บ้านของพระองค์ และบ้านของพระองค์ก็คือ สวรรค์ นั่นเอง
บางท่านกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ “ดารุสลาม” หมายถึง ผู้พำนักอยู่ในนั้นจะได้รับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน มีคำพูดว่าด้วยเหตุนี้เองสวรรค์จึงได้รับการตั้งชื่อว่า “ดารุสลาม” เนื่องจากผู้พำนักทุกคนต่างได้รับความปลอดภัยกันอย่างถ้วนหน้า มวลมะลาอิกะฮฺ ต่างพากันกล่าว สลาม แก่พวกเขา พระผู้อภิบาลของพวกเขา กล่าวให้สลามแก่พวกเขา ซึ่งในนั้นพวกเขาจะไม่ได้ยินเสียงอื่นใด นอกจากสลาม
ทำนองเดียวกันพวกเขาจะไม่เห็นสิ่งใดเลย นอกจากความปลอดภัย และสลาม แน่นอน ทัศนะนี้ได้รับการเน้นย้ำไว้โดยอัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่า
دَعْوَاهُمْ فِيهَا سُبْحَانَكَ اللَّهُمَّ وَتَحِيَّتُهُمْ فِيهَا سَلاَمٌ وَآخِرُ دَعْوَاهُمْ أَنِ الْحَمْدُ لِلّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
“การเรียกร้อง (ดุอาอ์) ของพวกเขาในสรวงสวรรค์คือ “มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ โอ้ อัลลอฮฺ และคำทักทายของพวกเขาในนั้นคือ “ความศานติ” (สลาม) และสุดท้ายของการเรียกร้องของพวกเขาคือ “การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฮ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” (ยูนุส 10)
ทำนองเดียวกัน ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า “ดารุสลาม ก็คือ สรวงสวรรค์ ซึ่งผู้พำนักในนั้นจะได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากทุกภยันตราย ทุกความเสียหาย ทุกความบกพร่อง ทุกโรคภัยใช้เจ็บ และทุกความเสื่อมทราม ผู้พำนักในดารุสลาม จะไม่แก่เฒ่า จะไม่ตาย ร่างกายจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะถูกรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมเสมอ พวกเขาคือบุคคลที่ได้รับเกียรติอย่างยิ่งในนั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม พวกเขาจะเป็นที่รักยิ่งเสมอ จะไม่ถูกทำให้อัปยศอดสู
ผู้พำนักอยู่ในดารุสลาม จะร่ำรวย จะไม่มีวันยากจน หรือความยากจนจะไม่กร่ำกรายมายังพวกเขา พวกเขาจะได้รับความผาสุกตลอดไป จะไม่มีวันตกต่ำหรือตกอับแต่อย่างใด
พวกเขาจะได้พำนักอยู่ในปราสาทที่ทำจากหินอ่อน และไข่มุก ซึ่งประตูของมันจะเปิดหันไปสู่อะรัชของอัลลอฮฺตลอดเวลา ในที่นั้น มวลมะลาอิกะฮฺ จะเข้าไปหาพวกเขาจากทุกๆ ด้าน และกล่าวให้ สลาม แก่พวกเขา พร้อมกับกล่าวว่า “ขอความสันติพึงมีแด่พวกท่าน ในสิ่งที่พวกท่านได้อดทน และนี่คือผลรางวัลแห่งความอดทนอดกลั้นของพวกท่าน” (บิฮารุลอันวาร เล่ม 8 หน้า 194)
ท่านอัลลามะฮฺ เฏาะบาเฏาะบาอีย์ กล่าวว่า คำว่า لهم دار السلام วัตถุประสงค์ของคำว่า สลาม ก็คือ ความหมายตามคำในพจนานุกรม ซึ่งเข้าใจได้จากบริบทของโองการ ซึ่งในที่นั้นผู้พำนักต่างได้รับความปลอดภัยจากทุกความเสียหาย และทุกภยันตรายทั้งจากภายนอก และภายใน ดารุสลาม ก็คือสถานที่ซึ่งปราศจากอันตรายจากความตาย ความแก่เฒ่า ความเจ็บป่วยไม่สบาย ความยากจน ความหวาดกลัว ความทุกข์ระทม และ ..... และนี่ก็คือ สวรรค์ ที่ได้ถูกสัญญาเอาไว้” (อัลมีซาน เล่ม 7 หน้า 345)
เช่นเดียวกันมีคำพูดกล่าวว่า สวรรค์ ได้รับการตั้งชื่อว่า ดารุสลาม เนื่องจากสถานที่แห่งนั้นคือ บ้านของอัลลอฮฺ ซึ่งหมายถึงความปลอดภัย และความสมบูรณ์ (อ้างแล้วเล่มเดิม)
2) ดารุลญะลาล
สวรรค์อันดับสองมีชื่อว่า “ดารุลญะลาล” มีรายงานจากท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามเขาได้กู่ร้องเรียกเสียงดังในหนทางของอัลลอฮฺว่า لا اله الاّ الله ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงพึงพอพระทัย และทรงประทานความปราบปลื้มของพระองค์แก่เขา และบุคคลใดก็ตามที่ก้าวไปถึงยังตำแหน่ง ริฎวานุนของอัลลอฮฺ พระองค์จะให้เขานั่งร่วมในที่เดียวกันกับ ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในดารุลญะลาล มีผู้ถามท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) ว่า โอ้ เราะซูลแห่งอัลลอฮฺ ดารุลญะลาล นั้นอยู่ ณ ที่ใด?
เราะซูล (ซ็อลฯ) กล่าวว่า มันคือสวรรค์ ซึ่งอัลลอฮฺ ทรงตั้งชื่อสวรรค์นั้น ด้วยพระนามของพระองค์ ซึ่งในที่นั้นผู้พำนักทุกคนจะได้จ้องมอง อัลลอฮฺ เจ้าของความสูงส่งอันมีเกียรติยิ่ง” (บะกียะตุล มะบาฮิซ หน้า 196)
3) ญันนะตุลมะอฺวา
ญันนะตุลมะอฺวาคือ สวรรค์ที่บรรดารูฮฺ ของชุฮะดา จะไปพำนักที่นั้น (ตาจญ์ ญุลอุรูซ เล่ม 10 หน้า 26)
ท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) กล่าวถึงความประเสริฐของเดือนรอมฎอนว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสร้างปราสาทราชวังที่สร้างขึ้นด้วยทองคำ ทรงเตรียมไว้สำหรับ ผู้ถือศีลอดทุกคน (ฟะซออิลุล อัชฮะรุ อัษษะลาษะฮฺ หน้า 85 เชคซะดูก)
4) ญันนะตุลคุลด์ (สวรรค์อัมตะ)
สวรรค์อัมตะนิรันดร์ คือสวรรค์ที่ท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) กล่าวถึงคุณสมบัติไว้ว่า “บุคคลใดปรารถนาการมีชีวิต เยี่ยงการดำรงชีวิตของฉัน และปรารถนาที่จะพำนักอยู่ในสวรรค์อัมตะ อันเป็นสวรรค์ที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสัญญาไว้กับฉัน เป็นสวรรค์ซึ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสร้างเสาต่างๆ และหมุดตรึงมันด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ฉะนั้น เขาต้องยอมรับ วิลายะฮฺ ของอะลี อะมีรุลมุอฺมินีน (อ.) เขาจึงจะได้เข้าสวรรค์นี้” (มะนากิบ อะมีรุลมุอฺมินีน เล่ม 1 หน้า 426)
แต่การยอมรับวิลายะฮฺ อะลี หมายถึง การเชื่อฟังปฏิบัติตามด้วยความบริสุทธิ์ใจ และจริงใจ
5) ญันนะตุลอัดนิน
อัลลามะฮฺ ฮิลลีย์ กล่าวว่า การที่เรียกสวรรค์นี้ว่า ญันนะตุลอัดนิน เนื่องจากว่า ณ สถานที่แห่งนั้นเป็นสถานพำนักถาวร และมีความเป็นอมต นิรันดร์ (มุนตะฮา อัลมะตับ เล่ม 1 หน้า 544)
รายงานจากท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ฉันลำต้นของต้นไม้หนึ่ง ฟาฏิมะฮฺคือกิ่งก้าน อะลีคือ ลำต้นของมัน ฮะซัน และฮุซัยน์ คือผลไม้ของมัน ส่วนชีอะฮฺและบรรดาผู้ที่มีความรักต่อเราคือ ใบใม้เขียวชจีของต้นไม้นี้ รากของต้นไม้นี้หยั่งลึกอยู่ใน ญันนะตุลอัดนิน” (อัซซิกร์ ของชะฮีดเอาวัล หน้า 6)
ท่านกาชิฟุล ฆิฏออ์ กล่าวว่า “ญันนะตุลอัดนิน อยู่ระหว่างกลางของสวรรค์ทั้งหลาย” (กัชฟุล ฆิฏออ์ เล่ม 2 หน้า 302)
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า “ญันนะตุลอัดนิน คือสวรรค์ซึ่งอัลลอฮฺ ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ซึงยังไม่มีใครเคยเห็นตราบจนถึงปัจจุบัน” (วะอิลุชชีอะฮฺ)
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า “อัลลอฮฺ ทรงสร้าง ญันนะตุลอัดนิน ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงปลูกต้นไม้ในนั้นด้วยพระองค์เอง ทรงสร้างปราสาทราชวังในนั้น ทรงสร้างลำน้ำต่างๆ ให้ไหลริน หลังจากนั้น ตรัสว่า โอ้ มุอฺมินผู้ประสบชัยชนะ จงพำนักในนั้นเถิด” (มะฮาซิน บัรกีย์ เล่ม 1 หน้า 155)
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า “ญันนะตุลอัดนิน กำแพงของมันถูกสร้างขึ้นด้วย ทับทิมสีแดง กุญแจต่างๆ ถูกสร้างขึ้นด้วยไข่มุกอันสวยงาม” (มันลายะฮฺเฎาะรุลฟะกีฮฺ เล่ม 1 หน้า 296)
6) ญันนะตุลฟิรเดาซ์
ญันนะตุลฟิรเดาซ์ คือสวรรค์ที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสร้างด้วยทองคำ และเงิน รายลอบถูกทำให้มีกลิ่นหอมรัญจวน รายงานฮะดีษกล่าวว่า “อัลลอฮฺ ทรงสร้างสวรรค์ด้วยความหอม และในสวรรค์นั้นทรงประทานผลไม้ต่างๆ ที่ดีที่สุด และทรงประทานพืชที่ดีที่สุดไว้ในนั้นด้วย” (ซุบดะตุลบะยาน หน้า 55, อัรดะบีลี)
ญันนะตุลฟิรเดาซ์ เป็นสวรรค์ที่สูงสุดหรือที่เรียกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึง (กาชิฟุล ฆิฏออ์ หน้า 19)
ญันนะตุลฟิรเดาซ์ คือสวรรค์ที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ร้องไห้คร่ำครวญเมื่อสูญเสียบิดา (ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)) ไป ซึ่งท่านหญิงได้คร่ำครวญว่า “โอ้ บิดาเอ๋ย ท่านได้ตอบรับคำเชิญขององค์พระผู้อภิบาลของท่านแล้ว ครั้นเมื่อพระองค์เชิญชวนท่าน โอ้ บิดาเอ๋ย ฟิรเดาซ์คือ สถานพำนักสำหรับท่าน” ด้วยเหตุนี้ ฟิรเดาซ์ ก็คือชื่อสวรรค์ ที่ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) พำนักอยู่ ณ ที่นั้น (ไนลุล เอาฏออ์ เล่ม 4 หน้า 161, ของเชากานีย์)
ญันนะตุลฟิรเดาซ์ มีอะรัชของพระผู้อภิบาลเป็นหลังคาปกคุม ในที่นั้นมีปราสาท 2 หลัง สีเขียวและสีขาวทำจากหินอ่อนอย่างดี ปราสาทสีขาวมีห้องอยู่ 70.000 ห้อง ผู้ที่พำนักอยู่ในนั้นคือ ศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮฺลุลบัยต์ (อ.)
ส่วนปราสาทสีเขียวมีห้องอยู่ 70.000 ห้องเช่นเดียวกัน ผู้ที่พำนักอยู่ในนั้นคือ ศาสดาอิบรอฮีม และลูกหลานของท่าน (มะซาอิล อะลี บิน ญะอฺฟัร หน้า 345)
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า “ญันนะตุลฟิรเดาซ์ กำแพงของสวรรค์นี้ทำจาก นูรรัศมี ส่วนนูรของห้องต่างๆ ทำจากนูรขององค์พระผู้อภิบาล” (มันลายะฮฺเฎาะเราะตุลฟะกีฮฺ เล่ม 1 หน้า 296)
7) ญันนะตุลนะอีม
ผลบุญและความประเสริฐของเดือนรอมฏอนกล่าวว่า เมื่อเดือนรอมฏอนผ่านไปถึงวันที่ 7 อัลลอฮฺจะบันทึกความดีงามให้เจ้า เท่ากับ 40.000 ชะฮีด และ 40.000 ซิดดีก ไว้ใน ญันนะตุลนะอีม” (อะมาลี เชคซะดูก หน้า 104)
ญันนะตุลนะอีม คือสวรรค์ ที่ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) สาธยายไว้ในดุอาอฺของท่านว่า “وَاجْعَلْنِي مِن وَرَثَةِ جَنَّةِ النَّعِيمِ โปรดให้ข้าฯ เป็นผู้รับมรดกแห่งสรวงสวรรค์อันรื่นรมย์ยิ่งด้วยเถิด” (ชุอฺอะรอ 85)
อัลลามะฮฺ เฏาะบาเฏาะบาอีย์ กล่าวอธิบายไว้ในตัฟซีร อัลมีซานว่า “ญันนะตุลนะอีม” คือสวรรค์วิลายะฮฺนั้นเอง (อัลมีซาน เล่ม 11 หน้า 369)
ท่านกล่าวว่า มีคำพูดซ้ำอยู่เสมอว่า นะอีม หมายถึง วิลายะฮฺ ดังนั้น ญันนะตุลนะอีม ก็คือ สวรรค์วิลายะฮฺนั้นเอง (อัลมีซาน เล่ม 19 หน้า 121)
สิ่งจำเป็นต้องกล่าวคือ บางคนเชื่อว่าชื่อทั้งเจ็ดที่กล่าวมานี้ ยืนยันให้เห็นถึงสวรรค์ ๆ เดียวเท่านั้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้เป็นระดับชั้น จากระดับทั้งหลายของสวรรค์ เนื่องจากเวลาที่เราพูดว่า “ญันนะตุลนะอีม” วัตถุประสงค์ก็คือ สวรรค์ที่พำนักถาวรนั่นเอง และเมื่อกล่าวว่า “ดารุลสลาม” นั่นหมายถึงผู้ที่พำนักอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้จะมีแต่ความสลามัต ปลอดภัยจากภยันตราย ความหวาดกลัว และความทุกข์โศก (อิอานะตุต ตอลิบีน เล่ม 4 หน้า 385)
สรุป สวรรค์ตามความเป็นจริงแล้วมีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีระดับชั้นหลากหลาย ซึ่งระดับชั้นของมันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมคู่ควร จึงได้มีชื่อเฉพาะกำกับเอาไว้