โองการศีลอด
อายะตุลอะฮฺกาม
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ وَلِتُكْمِلُواْ الْعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُواْ اللّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ
เดือนร่อมะฏอนเป็นเดือนที่อัล-กรุอานได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนจากทางนำ เป็นการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นบุคคลใดในหมู่พวกเจ้าได้ประจักษ์เดือนร่อมะฎอนอย่างชัดแจ้ง ก็จงถือศีลอด และผู้ใดเจ็บป่วย หรือกำลังเดินทางก็จงถือศีลอดชดใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮฺทรงประสงค์ความสะดวกแก่สูเจ้า ไม่ทรงประสงค์ความลำบากแก่สูเจ้า และสูเจ้าจงนับวันให้ครบถ้วน และจงสดุดีความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้นำสูเจ้า และเพื่อสูเจ้าทั้งหลายจะได้ขอบคุณ
คำอธิบาย อันดับแรกโองการได้อธิบายถึงคุณสมบัติของเดือนร่อมะฎอน คุณสมบัติพิเศษของอัล-กุรอานและช่วงเวลาการถือศีลอด
อันดับแรก แม้ว่าเดือนร่อมะฎอนจะเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด แต่เมื่อพิจารณาการแนะนำเดือนร่อมะฎอนของอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วจะพบว่าพระองค์ไม่ได้แนะนำว่าเดือนร่อมะฏอนเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด ทรงแนะนำว่าร่อมะฎอนเป็นเดือนแห่งการประทานอัล-กรุอานประทานอัล-กุรอานตรัสว่าเดือนร่อมะฏอนเป็นเดือนที่อัล-กรุอานได้ถูกประทานลงมา
(الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ)
อีกด้านหนึ่งโองการต้องการชี้ว่าการถือศีลอดเป็นหนึ่งในความจำเป็นของเดือนร่อมะฎอน ถ้าหากมนุษย์ต้องการได้รับทางนำที่แท้จริงจากอัลลอฮฺ (ซบ.) จำเป็นต้องถือศีลอด ณ ที่นี้ศีลอดจึงเป็นสื่อหนึ่งที่นำพามนุษย์ไปสู่การชี้นำจากพระองค์ เพราะฉะนั้นในเดือนร่อมะฎอนหากมนุษย์ไม่ถือศีลอดเขาก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับทางนำจากอัลลอฮฺ (ซบ.) โองการกล่าวต่อว่า
อัล-กุรอานเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติและเป็นหลักฐานอันชัดเจนจากทางนำ เป็นการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ
هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ
หลังจากนั้นได้อธิบายถึงกฎเกณฑ์บางส่วนของการถือศีลอด การเดินทางไกล การเจ็บป่วยได้ไข้ว่า และผู้ใดเจ็บป่วย หรือกำลังเดินทางก็จงถือศีลอดชดใช้ในวันอื่นแทน
وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوْ عَلَى سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ
และในตอนท้ายของโองการทรงอธิบายถึงปรัชญาของศีลอด กฎเกณฑ์ที่ว่า อัลลอฮฺไม่ทรงต้องการความยากลำบากใด ๆ จากมนุษย์ (نفى حرج)
อัลลอฮฺทรงประสงค์ความสะดวกแก่พวกเจ้า ไม่ทรงประสงค์ความลำบากแก่พวกเจ้า
يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ
สุดท้ายพระองค์ได้กล่าวถึงเป้าหมายของพระองค์ว่า และพวกเจ้าจงนับวันให้ครบถ้วนและจงสดุดีความเกรียงไกรแด่อัลลอฮในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้นำพวกเจ้าและเพื่อพวกเจ้าทั้งหลายจะได้ขอบคุณ
وَلِتُكْمِلُواْ الْعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُواْ اللّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ
อธิบายศัพท์ ร่อมะฎอน เป็นชื่อเดือนหนึ่งของปีจันทรคติ มาจากคำว่า (رَمِضَ رَمْضُا) หมายถึงความร้อนอย่างรุนแรง,การเผาไหม้แต่เป็นการเผาไหม้ที่ไม่มีควันและเถ้าถ่าน กล่าวกันว่า ช่วงเวลาที่ตั้งชื่อเดือนนี้ตรงกับช่วงเวลาที่อากาศร้อนระอุอย่างมากจึงได้ตั้งชื่อเดือนนี้ว่า ร่อมะฎอน[๑]
นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานบางท่านกล่าวว่า เดือนร่อมะฎอนเป็นเดือนที่ความผิดบาปจะถูกเผาไหม้ด้วยการกระทำคุณงามความดีทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้จึงตั้งชื่อเดือนนี้ว่า ร่อมะฎอน
ร่อมะฎอน เป็นเดือนแห่งการประทานอัล-กุรอาน เป็นเดือนเดียวที่มีชื่อปรากฏในอัล-กุรอาน และเป็นเดือนเดียวที่มีคืนแห่งอานุภาพ (ลัยละตุลก็อดฺร์) ตัฟซีรฺบุรฮานบันทึกไว้ว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า คัมภีร์แห่งฟากฟ้าทั้งหมดได้ประทานในเดือนร่อมะฎอน ร่อมะฎอนเป็นเดือนที่ดีที่สุดของอัลลอฮฺ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังได้กล่าวถึงความประเสริฐของเดือนร่อมะฎอนไว้ในวันศุกร์
สุดท้ายของเดือนชะอฺบาน ณ ที่นี้จะขอนำเสนอบางส่วนของคุฎบะฮฺ ดังนี้
روى الصّدوق بسند مُعتبر عن الرّضا (عليه السلام)، عن آبائه، عن أميرالمؤمنين عليه وعلى أولاده السّلام قال : إنّ رسول الله (صلى الله عليه وآله وسلم) خطبنا ذات يوم فقال : أيّها النّاس أنّه قد أقبل إليكم شهر الله بالبركة والرّحمة والمغفرة، شهر هو عند الله أفضل الشّهور، وأيّامه أفضل الأيّام، ولياليه أفضل اللّيالي، وساعاته أفضل السّاعات، هو شهر دعيتم فيه الى ضيافة الله، وجعلتم فيه من أهل كرامة الله، أنفاسكم فيه تسبيح، ونومكم فيه عبادة، وعملكم فيه مقبول، ودعاؤكم فيه مستجاب، فسلوا الله ربّكم بنيّات صادقة، وقلُوب طاهرة أن يوفّقكم لصيامه، وتلاوة كتابه، فإنّ الشّقي من حرم غفران الله في هذا الشّهر العظيم، واذكروا بجوعكم وعطشكم فيه جوع يوم القيامة وعطشه، وتصدّقوا على فقرائكم ومساكينكم، ووقرّوا كباركم، وارحموا صغاركم، وصلوا أرحامكم، واحفظوا ألسنتكم، وغضّوا عمّا لا يحلّ النّظر إليه أبصاركم، وعمّا لا يحلّ الاستماع إليه اسماعكم و تحننوا على أيتام الناس يتحنّن على أيتامكم وتوبوا إليه من ذنوبكم، وارفعوا إليه أيديكم بالدّعاء في أوقات صلواتكم فانّها أفضل السّاعات ينظر الله عزوجل فيها بالرّحمة الى عباده يجيبهم إذا ناجوه، ويلبّيهم إذا نادوه، ويستجيب لهم اذا دعوه .
ตามรายงานที่เชื่อถือได้จากท่านเชคศะดูกเล่าว่า ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้รับรายงานมาจากบรรพบุรุษของท่านจากท่านอะมีรุลมุอฺมินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ว่า ในวันหนึ่งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวคุฎบะฮฺ (สุนทรพจน์) แก่พวกเราว่า
โอ้ ประชาชาติเอ๋ย แน่นอนยิ่งเดือนแห่งอัลลอฮฺที่เต็มไปด้วยความจำเริญ ความเมตตาและการอภัยนั้นได้เข้ามาสู่พวกท่าน เดือนนี้เป็นเดือนที่ประเสริฐยิ่ง ณอัลลอฮฺ (ซบ.) วันและเวลาทั้งหลายเต็มไปด้วยความจำเริญและมีค่าอย่างยิ่ง พวกท่านได้ถูกรับเชิญให้เป็นแขกที่มีเกียรติของอัลลอฮฺ (ซบ.) อีกทั้งยังได้ถูกรวมเข้ากับบรรดาผู้ได้รับเกียรติยิ่ง ณ พระองค์ ในเดือนนี้การหายใจเข้าออกของพวกถือเป็นการถวายความสดุดีและสรรเสริญพระองค์ การหลับนอนของพวกท่านถือเป็นอิบาดะฮฺ การกระทำของพวกท่านจะถูกยอมรับ การขอดุอาอ์ต่าง ๆ ของพวกท่านจะถูกตอบสนอง ดังนั้น พวกท่านทั้งหลายจงวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลของพวกท่านด้วยความซื่อสัตว์และด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์เถิดให้ทรงประทานโอกาสเพื่อการถือศีลอด และการอ่านอัล-กุรอานคัมภีร์ของพระองค์ แท้จริงแล้วเหวนรกได้สัญญาไว้กับบุคคลที่ได้ถูกห้ามจากการอภัยโทษของอัลลอฮฺในเดือนที่ยิ่งใหญ่นี้ แน่นอผู้ที่ประกอบความชั่วในเดือนอันยิ่งใหญ่นี้ พระองค์จะไม่อภัยโทษให้กับเขา จงรำลึกถึงความหิวกระหายในวันกิยามะฮฺ ขณะที่พวกท่านหิวและกระหายในเดือนนี้ พวกท่านจงบริจาคให้กับผู้ยากจนและจงให้เกียรติแก่ผู้ใหญ่ จงเมตตาเอ็นดูต่อเด็กผู้เยาว์วัยกว่า จงสร้างสัมพันธ์กับเครือญาติให้ดีที่สุด จงรักษาปลายลิ้นของพวกท่านไว้ให้ดี จงลดสายตาของท่านลงต่ำจากสิ่งที่ไม่อนุมัติให้มอง และจงสงวนการได้ยินของพวกท่านให้พ้นจากสิ่งที่ไม่อนุมัติให้ฟัง จงเอาใจใส่ต่อเด็กกำพร้าทั้งหลายเหมือนดั่งการเอาใจใส่ต่อเด็กกำพร้าของท่าน จงขออภัยโทษในความผิดบาปต่าง ๆ ของพวกท่าน จงยกมือขึ้นดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ในเวลานมาซเพราะว่าเป็นเวลาที่ประเสริฐที่สุด อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบสนองในสิ่งต่าง ๆที่พวกท่านวิงวอนต่อพระองค์ และทรงขานรับการเรียกร้องของพวกท่าน ที่ได้เรียกหาพระองค์ โปรดทราบไว้ว่าเกียรติคุณของงานทั้งปวงในคืนและวันต่าง ๆของเดือนรอมฎอนนั้นคือการอ่านอัล-กุรอาน ฉะนั้น ควรอ่านอัล-กุรอานให้มากที่สุด เนื่องจากว่าอัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาในเดือนนี้.จากรายงานหะดีษหนึ่งระบุว่า สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีแหล่งกำเนิดและที่มา ซึ่งแหล่งกำเนิดของอัล-กุรอานนั้นอยู่ที่เดือนรอมฎอน
รอมะฎอนเดือนแห่งการเป็นแขกของอัลลอฮฺ
เดือนร่อมะฎอนผู้ศรัทธาได้รับเชิญด้วยบัตรเชิญพิเศษว่า ยาอัยยุฮันละซีนะอามะนูกุติบะอะลัยกุมุศศิยาม จากอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งแขกรับเชิญของพระองค์มีความพิเศษหลายประการด้วยกัน
๑. ผู้เป็นเจ้าภาพคืออัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งพระองค์ได้เชิญแขกด้วยพระองค์เอง
๒. สิ่งที่พระองค์ได้ใช้ในการต้อนรับคือลัยละตุลก็อดฺร์ การประทานอัล-กุรอาน การลงมาของมวลมลาอิกะฮฺ การตอบสนองดุอาอ์ การขัดเกลาจิตวิญญาณ และการทำให้ออกห่างจากไฟนรก
๓. เวลาแห่งการต้อนรับคือช่วงเดือนร่อมะฎอน ซึ่งริวายะฮฺกล่าวว่าช่วงต้นเดือนคือความเมตตา กลางเดือนคือการอภัย และปลายเดือนคือผลรางวัล
๔. ขั้นตอนของการต้อนรับ ในคืนแห่งอานุภาพนั้นพระองค์ได้ตอบสนองความต้องการภายในหนึ่งปีแก่บ่าวของพระองค์ และทรงประดับประดาคืนดังกล่าวด้วยกับการลงมาของมวลมลาอิกะฮฺ
๕. อาหารของเดือนนี้เป็นอาหารที่จัดเตรียมไว้สำหรับจิตวิญญาณ เพื่อการเติบโตของจริยธรรมด้านใน ไม่ใช่อาหารเพื่อการเติบโตของร่างกาย อาหารแห่งความเมตตาที่มอบให้กับแขกที่ได้รับเชิญคือโองการอัล-กุรอาน ซึ่งการอ่านอัล-กุรอานเพียงโองการเดียวในเดือนนี้จะได้รับผลบุญเท่ากับการอ่านอัล-กุรอานจบทั้งเล่มในเดือนอื่น
แขกประจำเดือนร่อมะฎอนไม่อาจเทียบได้กับแขกทางโลก เพราะอัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักวาล ผู้ทรงร่ำรวย ผู้สร้าง ผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ผู้ทรงพลัง และผู้ทรงสูงส่งได้เป็นเจ้าภาพเชิญแขกผู้โง่เขลา ยากจน สูญสลาย ถูกสร้าง และตกต่ำ พระองค์ทรงตรัสว่า ฉันจะตอบสนองการวิงวอนของเจ้า ลมหายใจเข้าออกของเจ้าในเดือนร่อมะฎอนฉันจะให้การตัสบีห์เป็นรางวัล[๒]
อัล-กุรอานและฟุรฺกอน
คำว่า กุรอาน เมื่อพิจารณาที่รูปขอคำจะพบว่าเป็นมัศดัรฺ (รากของคำ) มาจากคำว่า ก่อรออะฮฺ หมายถึง การอ่าน แต่ถ้าพิจารณาจากรากเดิมของคำหมายถึง การรวบรวม ซึ่งถูกใช้ในความหมายที่สองอันเป็นความหมายที่ทราบกันดีทั้งหมดคือ นามของคัมภีร์แห่งฟากฟ้า
คำว่า ฟุรฺกอน เช่นกันถ้าเป็นมัศดัรฺ จะให้ความหมายเป็นรูปกิริยาฟาอิล (ผู้กระทำ) หมายถึง ผู้ทำการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ[๓] บางครั้งอาจกล่าวได้ว่า ฟุรฺกอน ให้ความหมายเป็นรูปกิริยามัฟอูล (กรรมกิริยา) หมายถึง การถูกจำแนกให้กระจัดกระจายออกไป เนื่องจากได้ถูกประทานลงมาอย่างกระจัดกระจายและทยอยลงมาเป็นขั้นตอน
ยุซร์และอุสร์
ยุซร์และอุสร์ คำทั้งสองจะมีความหมายตรงข้ามกัน ยุซร์ ให้ความหมายว่า ง่าย สะดวก สบาย ส่วน อุสร์ หมายถึงความยากลำบาก แม้ว่าในบางครั้งยุซร์ จะถูกใช้ในความหมายของสิ่งเล็ก ๆน้อย ๆก็ตามแต่ในโองการข้างต้นยุซร์ให้ความหมายแรก (สะดวก สบาย)ฺ
อะฮฺกามฟิกฮฺ
โองการข้างต้นได้กล่าวถึงกฎเกณฑ์ของฟิกฮ์ไว้หลายประเด็นด้วยกันอาทิเช่น
๑. ช่วงเวลาการถือศีลอด
อัล-กุรอานได้กล่าวถึงช่วงเวลาการถือศีลอดว่า เดือนร่อมะฏอนเป็นเดือนที่อัล-กรุอานได้ถูกประทานลงมา โดยมีสัญลักษณ์ว่า ดังนั้นบุคคลใดในหมู่พวกเจ้าได้ประจักษ์เดือนร่อมะฎอนอย่างชัดแจ้ง ก็จงถือศีลอด ซึ่ง เป็นการอธิบายถึงเดือนที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นโองการอีกทั้งยังเป็นการอธิบาย ช่วงเวลาการถือศีลอดที่แน่นอนว่ามุสลิมทั้งหลายจะต้องเริ่มถือศีลอดเดือนไหน
เดือนแห่งอัล-กุรอานและถือศีลอด
ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่โองการกำลังกล่าวถึง อัล-กุรอานและการประทานอัล-กุรอานในเดือนนี้ แม้ว่าโองการข้างต้นจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอายะตุลอหฺกามก็ตาม แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กล่าวคุณสมบัติของอัล-กุรอานไว้เคียงข้างกับอายะตุลอหฺกาม ขณะเดียวกันพระองค์ได้มอบให้การถือศีลอดปรากฏในเดือนแห่งอัล-กุรอาน เพื่อให้มนุษย์ได้รำลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างการถือศีลอดกับอัล-กุรอาน ดังที่ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ประทานให้การถือศีลอดปรากฏในเดือนร่อมะฎอนโดยเฉพาะไม่ใช่เดือนอื่น เนื่องจากเดือนร่อมะฎอนเป็นเดือนแห่งการประทานอัล-กุรอาน[๔]
อีกด้านหนึ่งอัล-กุรอานเป็นคัมภีร์แห่งการชี้นำ ชัดแจ้ง และเป็นเครื่องจำแนก ขณะที่ศีลอดคือปฐมบทของการชี้นำและเป็นแบบอย่าง
อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์แห่งการชี้นำมวลมนุษยชาติทั้งหลายอัล-กุรอานกล่าวว่า เพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ และเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งและเป็นสัญลักษณ์แห่งการชี้นำสำหรับกลุ่มชนที่เฉพาะเจาะจงอัล-กุรอานกล่าวว่า และเป็นหลักฐานอันชัดเจนจากทางนำ เป็นการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ
๒. ความจำเป็นในการค้นหาดวงจันทร์
เมื่อตกลงแล้วว่าต้องถือศีลอดในเดือนร่อมะฎอนสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำประการแรกคือการตรวจสอบเดือน เพื่อจะได้มั่นใจว่าศีลอดนั้นได้ถือในเดือนร่อมะฎอนจริง ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าโองการข้างต้นได้บ่งชี้ถึงการามองเห็นดวงจันทร์ในเดือนรอมฎอนและเดือนเชาวาลด้วยเช่นกัน ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า การถือศีลอดในเดือนร่อมะฎอนเป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ซึ่งทั้งการถือศีลอด และวันอีดฟิฏร์ต้องเห็นดวงจันทร์[๕]
ริวายะฮฺจากท่านมุฮัมมัด มุสลิม รายงานจากท่านอิมามบากิรฺ (อ.) กล่าวว่า เมื่อท่านเห็นดวงจันทร์จงถือศีลอด และเมื่อพวกเขาได้เห็นดวงจันทร์ท่านจงจัดอีด (อีดฟิฎร์)[๖]
ในหมู่ของอหฺลิซซนะฮฺก็รายงานริวายะฮฺทำนองนี้ไว้เช่นกัน ท่านอิบนุอุมัรฺได้รายงานจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า พวกท่านจงอย่าถือศีลอดจนกว่าจะได้เห็นดวงจันทร์ และจงอย่าออกอีดจนกว่าจะได้เห็นดวงจันทร์เช่นกัน[๗]
จากตรงนี้จึงสรุปได้ว่าการมองเห็นจึงเป็นหนึ่งในวิธีการพิสูจน์ดวงจันทร์ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่ามันได้ครอบคลุมทั้งการมองเห็นของตนและคนอื่น วาญิบกิฟายะฮฺ และการยืนยันของผู้มีความยุติธรรม
๓. ศีลอดอื่นที่นอกเหนือจากศีลอดเดือนรอมฎอนเป็นหะรอม
จะสังเกตเห็นว่าในเดือนร่อมะฎอน หน้าที่ ๆสำคัญที่สุดคือการถือศีลอด ดังนั้นศีลอดอื่น ๆที่นอกเหนือจากนี้ไม่ว่าจะเป็นศีลอดวาญิบ เช่น ศีลอดชดใช้ ศีลอดนะซัรฺ หรือศีลอดมุสตะฮับไม่เป็นที่ยอมรับทั้งสิ้น แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการเดินทางก็ตาม
ริวายะฮฺมุรฺซัล จากท่านฮะซัน บิน บัสซาม ได้รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า ขณะที่ท่านอิมามเดินทางไปมักกะฮฺเดือนชะอฺบาน ท่านได้ถือศีลอดมุสตะฮับแต่พอถึงเดือนร่อมะฎอนท่านได้ละศีลอดทันที ฉันได้พูดกับท่านอิมามว่า เดือนชะอฺบานท่านได้ถือศีลอดมุสตะฮับแต่พอถึงเดือนร่อมะฎอนท่านได้ละเว้นทันที ท่านอิมามา (อ.) ตอบว่า สิ่งนั้นเป็นความสมัครใจ และเราได้ทำตามที่เราปรารถนา ส่วนสิ่งนี้เป็นข้อบังคับ ดังนั้นเราไม่มีสิทธิ์ที่จะกระทำนอกจากพระองค์ได้มีบัญชาแก่เรา[๘]
๔. หน้าที่ของผู้ที่เจ็บป่วย,เดินทาง
ส่วนหนึ่งของโองการได้กล่าวถึงศีลอดของคนป่วยหรือเดินทางโดยกล่าวว่า และผู้ใดเจ็บป่วย หรือกำลังเดินทางก็จงถือศีลอดชดใช้ในวันอื่นแทน
๕. การถือศีลอดชดเชย
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจ็บป่วยหรือเดินทางไกล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่ทรงประสงค์ความยากลำบากใดจากมนุษย์ ฉะนั้นในสองประเด็นข้างต้นพระองค์จึงผ่อนปรนให้กับมนุษย์เพื่อความสะดวกสบายเพราะโดยปรกติแล้วสำหรับผู้ที่เดินทางไกล หรือไม่สบายนั้นไม่มีความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ แต่พวกเขาต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลัง ตรัสว่า อัลลอฮฺทรงประสงค์ความสะดวกแก่พวกเจ้า ไม่ทรงประสงค์ความลำบากแก่พวกเจ้า
กฎเกณฑ์นัฟฟีหะรัจญ์
ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ไม่ทรงประสงค์ความไม่สะดวกจากมนุษย์ ฉะนั้นพระองค์ผู้ทรงเมตตา และความเมตตาของพระองค์ครอบคลุมเหนือสรรพสิ่งทั้งหลายทรงเห็นแก่ความสะดวกสบายของปวงบ่าว พระองค์จึงได้วางกฎเกณฑ์นัฟฟีอุสร์วะหะรัจญ์ขึ้น ดังจะเห็นว่าเมื่อวุฎูอ์เป็นการกระทำที่ยากลำบากแก่มนุษย์พระองค์จึงทดแทนวุฎูอ์ด้วยการตะยัมมุม อัล-กุรอานกล่าวว่า
مَا يُرِيدُ اللّهُ لِيَجْعَلَ عَلَيْكُم مِّنْ حَرَجٍ
อัลลอฮฺนั้นไม่ทรงประสงค์เพื่อจะให้มีความลำบากใด ๆ แก่พวกเจ้า[๙]
لَّيْسَ عَلَى الضُّعَفَاء وَلاَ عَلَى الْمَرْضَى وَلاَ عَلَى الَّذِينَ لاَ يَجِدُونَ مَا يُنفِقُونَ حَرَجٌ
ไม่มีบาปใด ๆ แก่บรรดาผู้ที่อ่อนแอ , และแก่ผู้ที่ป่วยไข้ และแก่บรรดาผู้ที่ไม่พบสิ่งที่จะบริจาค[๑๐]
เกี่ยวกับเรื่องสังคมและครอบครัวอัล-กุรอานกล่าวว่า
فَلَمَّا قَضَى زَيْدٌ مِّنْهَا وَطَرًا زَوَّجْنَاكَهَا لِكَيْ لَا يَكُونَ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ حَرَجٌ فِي أَزْوَاجِ أَدْعِيَائِهِمْ
ครั้นเมื่อเซด ได้หย่ากับนาง แล้วเราได้ให้เจ้าแต่งงานกับนางเพื่อที่จะไม่เป็นที่ลำบากใจแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายในเรื่องการสมรสกับภริยาของบุตรบุญธรรมของพวกเขา[๑๑]
และเกี่ยวกับศีลอดอัล-กุรอานได้ย้ำเน้นว่า
أُخَرَ يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ
อัลลอฮฺทรงประสงค์ความสะดวกแก่พวกเจ้า ไม่ทรงประสงค์ความลำบากแก่พวกเจ้า
๖. ความสมบูรณ์ของจำนวน
อีกประเด็นของฟิกฮ์ ที่โองการได้กล่าวถึงคือ การถือศีลอดให้สมบูรณ์ตามจำนวนวันที่กำหนดอัล-กุรอานกล่าวว่า และพวกเจ้าจงนับวันให้ครบถ้วน จุดประสงค์ของการนับวันให้ครบหมายถึงอะไร ?
บางทัศนะกล่าวว่า หมายถึงจงถือศีลอดชดใช้ให้สมบูรณ์ตามที่สูเจ้าได้ขาดไปในช่วงที่ไม่สบาย หรือเดินทาง ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า จงนับวันให้ครบถ้วน ในอีกความหมายหนึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ในวันที่สูเจ้าปรกติดีจงถือศีลอดอย่าได้ละเลย มิเช่นนั้นแล้วโองการต้องกล่าวว่า (لتكملواالشهر) หมายถึงจงนับเดือนให้สมบูรณ์ นั่นหมายความว่ามันครอบคลุมการปฏิบัติเฉพาะส่วนที่เหลือเท่านั้นไม่ได้ครอบคลุมการชดเชยส่วนที่ขาดหายไป
นักปราชญ์บางท่านของอหฺลิซซุนนะฮฺกล่าวว่า จุดประสงค์คือการถือศีลอดทั้งสามสิบวันเป็นวาญิบ ฉะนั้นตามทัศนะดังกล่าวเดือนร่อมะฎอนต้องมีสามสิบวันเสมอ เหตุผลในการพิสูจน์คือหะดีษจากท่านอบีบักร์ ที่รายงานมาจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า มีอยู่สองเดือนที่จำนวนวันของมันจะไม่ขาดหายไปได้แก่ เดือนร่อมะฎอนและเดือนซุลหิจญ์[๑๒] หากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่าคำพูดดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะขัดแย้งกับริวายะฮฺอื่นที่กล่าวว่าเดือนร่อมะฎอนก็เหมือนกับเดือนอื่นๆ บางที่มีสามสิบวันและบางที่ก็มียี่สิบเก้าวัน ดังริวายะฮฺของอบูหุร็อยเราะฮฺที่กล่าวโดยรายงานจากท่านศาสาดา (ศ็อลฯ) ว่า เมื่อสูเจ้าเห็นดวงจันทร์จงถือศีลอด และเมื่อสูเจ้าได้เห็นดวงจันทร์อีกจงละศีลอด (ออกอีด) แต่ถ้าเมฆได้บดบังดวงจันทร์ (มองไม่เห็น) สูเจ้าจงถือศีลอดสามสิบวัน[๑๓]
ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าโองการต้องการกล่าวถึง การถือศีลอดชดใช้ศีลอดที่ขาดหายไปเนื่องจากไม่สบาย หรือเดินทางให้สมบูรณ์ตามจำนวนวัน ส่วนริวายะฮฺของท่านอบีบักร์ที่กล่าวว่า จำนวนวันของมันจะไม่ขาดหาย สมมติว่าถูกต้องจำเป็นต้องนำไปตีความเทียบเคียงกับอีกริวายะฮฺหนึ่งที่ได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ซึ่งความหมายของริวายะฮฺที่ได้คือ เดือนที่มียี่สิบเก้าวันผลบุญของมันไม่ได้แตกต่างกับเดือนที่มีสามสิบวัน
๗. ตักบีรฺวันอีด
ตอนท้ายของโองการได้กล่าวถึงความจำเป็นในการตักบีรฺตอนปลายเดือนร่อมะฎอน อัล-กุรอานกล่าวว่า (وَلِتُكَبِّرُواْ اللّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ) และจงสดุดีความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้นำสูเจ้า จุดประสงค์ของตักบีรฺคืออะไร ?
ตักบีรฺอะมะลี
นักตัฟซีรฺบางท่าน[๑๔] กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการอธิบายถึงบั้นปลายและเป้าหมายของการถือศีลอด กล่าวอีกว่า การถือศีลอดเป็นการยกย่องเกียรติคุณของอัลลอฮฺ (ซบ.) ยอมรับในความเกรียงไกรและยิ่งใหญ่ของพระองค์ เปิดเผยความเป็นบ่าวของตน สดุดีและขอบคุณในความโปรดปรานต่างๆ ของพระองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปรดปรานด้านการชี้นำของพระองค์ ขณะที่การขอบคุณนั้นจำเป็นต้องอยู่เคียงข้างกับศีลอดที่แท้จริง เนื่องจากอัล-กุรอานได้กล่าวถึงการขอบคุณไว้เคียงข้างกับคำว่า ละอัลละ (เพื่อสูเจ้าทั้งหลายจะได้ขอบคุณ)
ตักบีรฺลัฟซีย์
นักตัฟซีรฺบางท่าน[๑๕] เชื่อว่าตักบีรฺ ณ ที่นี้หมายถึงตักบีรฺในวันอีดฟิฎร์ ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในค่ำวันอีดและหลังจากสี่นมาซหมายถึง นมาซมัฆริบ อีซาในค่ำวันอีด ซุฮฺริ และอัศริ ในกรณีนนี้เท่ากับได้อธิบายฮุกุ่มของฟิกฮฺเท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีริวายะฮฺทั้งจากสุนีย์และชีอะฮฺสบับสนุนทัศนะดังกล่าว อาทิเช่น ริวายะฮฺของมุอาวิยะฮฺ บิน อัมมารฺ รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า จงตักบีรฺในค่ำวันอีดฟิฏร์และเช้าของวันอีดฟิฏร์[๑๖] และริวายะฮฺที่รายงานจากท่านอับบาสว่า เป็นสิทธิของบรรดามุสลิมเมื่อได้เห็นดวงจันทร์ของเดือนเชาวาลพวกเขาได้ตักบีรฺ[๑๗]
หมายเหตุ ตักบีรฺในทัศนะของอหฺลิซซุนนะฮฺเป็นวาญิบ ส่วนในทัศนะของชีอะฮฺเป็นมุสตะฮับ
นมาซอีด
อาจเป็นไปได้ที่ตักบีรฺในที่นี้หมายถึง นมาซอีด ตามริวายะฮฺของท่านฟัฎลฺ บิน ชาซาน ที่รายงานจากท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า จุดประสงค์ของตักบีรฺหมายถึง นมาซอีด ริวายะฮฺกล่าวว่า แท้จริงพระองค์ได้กำหนดให้วันนี้มีตักบีรฺ หมายถึงวันนี้มีนมาซอีด ซึ่งมีตักบีรฺมากกว่านมาซอื่นเพราะแท้จริงตัก บีรฺเป็นการยก ย่องเกียรติคุณของอัลลอฮฺ และสรรเสริญในสิ่งชี้นำของพระองค์ดังที่พระองค์ตรัสว่าและจงสดุดีความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้นำสูเจ้า[๑๘]
สาระสำที่ได้รับจากโองการ
๑.คุณค่าของเดือนร่อมะฎอนอยู่ที่การประทานอัล-กุรอาน ส่วนคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่อัล-กุรอานที่มีบทบาทต่อเขา (الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ)
๒.การชี้นำมีหลายขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งเป็นของกลุ่มชนโดยทั่วไป (هُدًى لِّلنَّاسِ) ส่วนอีกขั้นตอนหนึ่งเป็นของกลุ่มชนโดยเฉพาะ (وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَى)
๓.ศีลอดเป็นวาญิบเมื่อเชื่อมั่นว่าได้มองเห็นดวงจันทร์ (فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ)
๔.การถือศีลอดชดใช้สำหรับผู้เดินทางหรือไม่สบายเป็นวาญิบ (فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ)
๕.การถือศีลอดชดใช้ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน (أَيَّامٍ أُخَرَ)
๖.กฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺขึ้นอยู่กับความสะดวกและเข้ากันได้กับมนุษย์ (يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ)
๗.ความไม่สะดวกและความลำบากเป็นตัวผลักดันให้มนุษย์พ้นหน้าที่ (وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ)
๘.การถือศีลอดชดใช้ต้องถือเท่าจำนวนวันที่ขาดไป (وَلِتُكْمِلُواْ الْعِدَّةَ)
๙.การชี้นำและความสำเร็จในการอิบาดะฮฺขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ (ซบ.) ส่วนตักบีรฺเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพระองค์ โดยละทิ้งอัตตาตัวตนของตนเองและการไม่ใส่ใจต่อบุคคลอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) (وَلِتُكَبِّرُواْ اللّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ)
๑๐.การถือศีลอดเป็นสื่อที่เตรียมพร้อมเพื่อรอรับการชี้นำและเป็นการขอบอัลลอฮฺ (ซบ.)
(وَلِتُكَبِّرُواْ اللّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ)
[๑] มัจมะอุลบะห์เรน, อัล-มิศบาหุลมุนีรฺ, มุฟรอดาด
[๒] คุฏบะฮฺท่านศาสดาประจำศุกร์สุดท้ายของเดือนชะอฺบาน
[๓] ปทานุกรม อัล-อัยน์, ศิหาหุลลุเฆาะฮฺ, มุศร่อดาด
[๔] วะซาอิลุชชีอะฮฺ บาบอหฺกาม ชะร์ร่อมะฎอน บาบที่ ๕ หะดีษที่ ๖
[๕] อ้างแล้ว หะดีษที่ ๙
[๖] อ้างแล้ว บาบที่ ๓ หะดีษที่ ๕
[๗] ศ่อฮีย์มุสลิม เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๒๒
[๘] วะซาอิลุชชีอะฮฺ บาบอหฺกาม ชะร์ร่อมะฎอน บาบที่ ๑๑ หะดีษที่ ๕
[๙] มาอิดะฮฺ / ๖
[๑๐] เตาบะฮฺ / ๙๑
[๑๑] อะห์ซาบ ๓๗
[๑๒] ศ่อฮีย์มุสลิม เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๒๘
[๑๓] อ้างแล้ว หน้าที่ ๑๒๔
[๑๔] อาทิเช่น ท่านบัฆฺวา, บัยฎอวีย์, มุดัรฺริส, ฏ่อบาฏ่อบาอีย์, มะการิมชีรอซีย์
[๑๕] อาทิเช่น ท่านเชคฏูซีย์ ,อิบนิกะษีรฺ, ฏ่อบัรฺร่อซีย์,และบัฆวีย์
[๑๖] วะซาอิลุชชีอะฮฺ บาบุศศ่อลาตุลอีด บาบที่ ๒๐ หะดีษที่ ๑
[๑๗] อ้างแล้ว บาบที่ ๑๐ หะดีษ ๑
[๑๘] วะซาอิลุชชีอะฮฺ บาบุศศ่อลาตุลอีด บาบที่ ๑๐ หะดีษที่ ๑